การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

1. สำรวจความต้องการของตลาด

     ข้อมูลด้านการตลาดของสินค้า จะช่วยให้ผู้ออกแบบสามารถเกิดแนวคิดหรือหาเทคโนโลยีในการออกแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ข้อมูลที่ควรจะมีได้แก่  

 1.1 ข้อมูลของสินค้า
      - คุณสมบัติด้านกายภาพ เคมี โดยควรรู้ว่าผลิตภัณฑ์จะเสื่อมสภาพอย่างไรหรือแตกหักได้ง่ายหรือไม่ ผลิตภัณฑ์หลายชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเมื่ออุณหภูมิและความชื้นแปรผัน ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารจะเสื่อมสภาพได้ง่ายเมื่อเกิดปฏิกิริยาทางเคมี การศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพจะช่วยให้ผู้ออกแบบ บรรจุภัณฑ์พิจารณาเลือกใช้วัสดุภัณฑ์ที่เหมาะสมและแข็งแรงเพียงพอต่อการป้องกันการเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์
      - ส่วนประกอบที่สำคัญของสินค้าคืออะไร
      - ศึกษาถึงปัญหาว่าทำไมเราต้องมีบรรจุภัณฑ์ หาข้อมูลถึง ข้อดี ข้อเสียและ สิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขของบรรจุภัณฑ์เดิม

1.2 ข้อมูลผลิตภัณฑ์คู่แข่งขัน
      - ประวัติของสินค้าคู่แข่ง
      - แนวโน้มของการพัฒนาของสินค้าคู่แข่ง โดยเฉพาะในดานสิ่งแวดล้อม
      - ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเดียวกัน หาจุดแข็งด้านสิ่งแวดล้อมที่สินค้าคู่แข่งมี

1.3 ศึกษาโอกาสทางการตลาดที่เหมาะสม
      - ขนาดตลาดในปัจจุบัน และการคาดการณ์ในอนาคต
      - ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมาย
      - ราคาของสินค้า
      - ระเบียบกฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
      - ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม
      - ตำแหน่งของสินค้าในตลาด

1.4 ข้อมูลของบริษัท (ผู้ผลิต)
      - ข้อมูลด้านการผลิตที่จำเป็นต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ความเร็วและปริมาณการผลิตต่อครั้ง วิธีการผลิต ลักษณะการผลิตเป็นแบอัตโนมัติหรือแบบใช้แรงงานคน ซึ่งการเลือกใช้เครื่องจักรในการบรรจุจะสัมพันธ์กับความเร็วของการผลิตสินค้าและสอดคล้องกับแผนผังการวางเครื่องจักรภายในโรงงาน
      - ความพร้อมด้านเครื่องมือ และทรัพยากรต่างๆ
      - นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

1.5 แรงกดดันที่ทำให้ต้องมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์
ควรพิจารณาถึงแรงกดดันในด้านต่างๆที่ทำให้ต้องมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้แก่
      - ด้านสิ่งแวดล้อม
      - ด้านวัตถุดิบ
      - ด้านเทคโนโลยี
      - ด้านตลาดและรสนิยมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

packaging_design

2.จัดระดมความคิด

      การระดมความคิดจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดแนวคิดและกลยุทธ์ที่เหมาะสมอาจจะใช้คนประมาณ 8-15 คน จากฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายสิ่งแวดล้อม ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายพลังงานและบริการ ควรจะรวมคนที่มีแนวคิดที่แปลกและแตกต่างจากนักออกแบบเข้าไปด้วย

2.1 หัวข้อที่ควรจะนำมาอภิปราย
       2.1.1 ข้อมูลสินค้า เสนอข้อมูลเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง อุปสรรคและโอกาส
       2.1.2 การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
          - เสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
          - เพื่อระบุผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ หรืออาจจะจัดลำดับ
          - ความสำคัญตามความรุนแรงของผลกระทบ
       2.1.3 เสนอกลยุทธ์ในการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
         - จัดเรียงแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้น และเรียงลำดับกลยุทธ์ต่างๆ
       2.1.4 พิจารณาความเป็นไปได้ของกลยุทธ์ต่างๆ
การพิจารณาทางความเป็นไป จะต้องคำนึกถึงด้านความพร้อมและความเป็นไปได้ ทางเทคนิค และจัดเรียงลำดับ เพื่อดูสิ่งใดควรทำก่อนและหลัง

2.2 การประเมินผลของการระดมความคิด
ผลของการระดมความคิด สามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้
      กลุ่มที่ 1: แนวคิดของกลุ่มที่ทำประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์สตร์มีความพร้อมด้านเทคนิค แนวคิดกลุ่มนี้สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้น
      กลุ่มที่ 2: แนวคิดที่ทำให้เกิดผลทางสิ่งแวดล้อมในวงจำกัด แต่สามารถเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์มีความพร้อมด้านเทคนิค แนวคิดกลุ่มที่ 2 มีความเป็นไปได้ในช่วงเวลาสั้น
      กลุ่มที่ 3: แนวคิดที่ทำให้ผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังมีปัญหาในด้านเศรษฐศาสตร์ด้านเทคนิคกลุ่มนี้ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม
      กลุ่มที่ 4: แนวคิดที่ทำให้เกิดผลทางสิ่งแวดล้อมในวงจำกัด และยังมีปัญหาด้านการเศรษฐศาสตร์ และด้านเทคนิคแนวคิดกลุ่มนี้สามารถตัดทิ้ง

packaging_design

3.การวางแผนเพื่อออกแบบ

      เมื่อข้อมูลทั้งหมดจาการทำวิจัยถูกรวบรวมขึ้นเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ปัจจัยที่สำคัญนักออกแบบที่ต้องพิจารณาขั้นตอนต่อไปนี้ได้แก่

3.1วัสดุบรรจุภัณฑ์
      วัสดุเดี่ยวหรือวัสดุผสมที่ถูกคัดเลือกใช้ทำบรรจุภัณฑ์ควรมีความสามารถในการป้องกันสินค้าจากการเสื่อมสภาพหรือความเสียหายต่างๆได้ ผู้ออกแบบควรให้ความสนใจรอยเชื่อมและการปิดผนึกของบรรจุภัณฑ์เป็นพิเศษ เพราะถึงแม้จะเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติดีที่สุด แต่หากบรรจุภัณฑ์นั้นมีรอยรั่วหรือปิดผนึกไม่เหมาะสม บรรจุภัณฑ์นั้นก็ไม่สามารถป้องกันสินค้าจากความเสียหายได้
     การออกแบบโครงสร้างของบรรจุภัณฑ์วัสดุช่วยบรรจุต้องคำนึกถึงคุณสมบัติในการป้องกันการแตกหักเสียหายของสินค้าตลอดระยะทางการขนส่งทั้งระบบ ผู้ออกแบบจำเป็นต้องรู้ว่าสินค้าควรจะขนย้ายในลักษณะใด และสินค้าจะได้รับแรงเค้นหรือกดดันอย่างไรตลอดเส้นทางการขนส่ง การใช้เครื่องหมายสากลพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์ขนส่งจะช่วยในการขนย้ายสินค้ากระทำอย่างถูกต้อง และลดโอกาสการลักขโมยระหว่างการขนย้าย โดยข้อมูลที่ปรากฏอาจจะอยู่ในรูปของสินค้าในเอกสารการขนส่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกขโมย
เครื่องหมายและข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เช่น น้ำหนัก ควรพิมพ์ให้ชัดเจนและตัวอักษรถูกต้อง ไม่ควรลบเลือนง่ายเมื่อถูกคราบความชื้นหรือเปื้อนคราบสกปรกต่างๆระหว่างขนส่ง

3.2 ของบรรจุภัณฑ์
      การออกแบบรรจุภัณฑ์ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับตัวสินค้า โดยใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพมีของเสียน้อยที่สุด กล่าวคือ บรรจุภัณฑ์ขายปลีกควรมีขนาดพอดีกับบรรจุภัณฑ์ขนส่ง และบรรจุภัณฑ์ขนส่งสามารถวางเรียงซ้อนบนแท่นรองรับสินค้าได้เต็มพื้นที่
     การออกแบบจะต้องยึดมาตรฐานขนาด แท่นรองรับสินค้าของตลาดเป้าหมายเป็นข้อกำหนดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนส่งและบรรจุภัณฑ์ขายปลีกซึ่งขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับขนาดแท่นรองรับสินค้าจะช่วยให้ระบบการขนย้ายรวดเร็ว ประหยัด

3.3 การขนย้ายบรรจุภัณฑ์
      การขนย้ายด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดมาตรฐาน จะช่วยให้การขนส่งรวดเร็วมีประสิทธิภาพ มาตรฐานนานาชาติ (ISO 3394) ได้ระบุมิติภายนอกของบรรจุภัณฑ์ขนส่ง เป็นขนาด 600*400 ม.ม. หรือเรียกว่า “รูปแบบพื้นฐานของบรรจุภัณฑ์” ขนาดของบรรจุภัณฑ์ต้องพอดีสำหรับการวางเรียงซ้อนบนแท่งรองรับสินค้ามาตรฐานจะช่วยให้การขนส่งรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เครื่องหมายต่างๆบนบรรจุภัณฑ์ก็เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้การขนย้ายสะดวกและรวดเร็วขึ้น ภาพของเครื่องหมายจะต้องชัดเจน และระบุเฉพาะเครื่องหมายที่จำเป็นต่อการขนถ่ายหรือขนส่ง ตัวอย่างเช่น เครื่องหมายลูกศรชี้ให้วางบรรจุภัณฑ์ตั้งขึ้น และเครื่องหมายแสดงห้ามใช้ตะขอเกี่ยวบรรจุภัณฑ์ การใช้เครื่องหมายมากเกินความจำเป็นจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานขนาดความสนใจต่อเครื่องหมายที่เปรอะเต็มพื้นที่บรรจุภัณฑ์
      สำหรับบรรจุภัณฑ์ขายปลีกที่วางบนชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ควรคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้บริโภคในการหิ้วถือ ขนาดที่เหมาะสม การเปิดและปิดซ้ำตลอดจนข้อมูลที่จำเป็นที่จะต้องระบุบนบรรจุภัณฑ์ตามข้อกำหนดของกฎหมายแต่ละประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์จะต้องถูกต้อง ชัดเจนและอ่านง่าย

3.4 ความสะดุดตาของบรรจุภัณฑ์
      บรรจุภัณฑ์ควรจะแสดงภาพลักษณ์ที่ถูกต้องของสินค้า ราคาไม่แพงหรือถูกจนเกินไปเมื่อเทียบกับราคาของสินค้า การเลือกใช้สี โลโก้ ชื่อสินค้า และภาพประกอบ ไม่ควรทำงานนิยม ความเชื่อในศาสนาหรือขนบธรรมเนียมปฏิบัติของตลาดเป้าหมาย สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคควรได้รับความสนใจเท่าเทียมกันทั้งการออกแบบและวางแผนการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นความเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์ในด้านความคุ้มครองและการรับสินค้าหิ้วถือสะดวก มองดูสะอาดสวยงามสะดุดตา

3.5 ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
      ความปลอดภัย สุขภาพอนามัยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นข้อกำหนดสำคัญของระบบการหีบห่อที่เหมาะสม ข้อมูลจากข้อกำหนดเหล้านี้จะต้องถูกแปลงไปสู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

3.6 ค่าใช้จ่ายและคุณภาพ
      ค่าใช้จ่ายของการบรรจุหีบห่อหมายถึงค่าใช้จ่ายรวมของกระบวนการบรรจุหีบห่อ ไม่ใช่เฉพาะค่าใช่จ่ายของตัวบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุบรรจุภัณฑ์เท่านั้นค่าใช้จ่ายรวมประกอบด้วยค้าใช้จ่ายด้านการวางแผนบรรจุภัณฑ์ การจัดหา และการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในการขนย้ายบรรจุภัณฑ์นอกจากนี้ยังรวมถึง การปฏิบัติงานการบรรจุซึ่งรวมค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง ค่าจัดจำหน่าย รวมทั้งการประกันภัยสินค้าและบรรจุภัณฑ์
      ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมของระบบการหีบห่อที่ถูกต้องไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุดเสมอไป บางกรณีค่าใช้จ่ายด้านบรรจุภัณฑ์ที่ต่ำอาจหมายถึง คุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่ด้อยกว่ามาตรฐาน และอาจทำให้กระบวนการการบรรจุหีบห่อสะดุดหรือชะงักในระหว่างการปฏิบัติงาน เกิดการแตกหักเสียหายระหว่างการขนส่ง และทั้งหมดนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายรวมของทั้งระบบสูงขึ้น ข้อพิจารณาอันดับแรกของการเลือกวัสดุบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ คุณภาพของวัสดุนั้นมีคุณภาพตรงกับคุณสมบัติในการนำไปใช้งาน สิ่งที่สำคัญต่อมาคือความน่าเชื่อถือของผู้ขายวัสดุบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถส่งมอบวัสดุบรรจุภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้ราคาวัสดุไม่เปลี่ยนแปลง การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของการวางแผนด้านบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมโดยใช้ข้อมูลเชิงวิชาการด้านต่างๆ จะช่วยการวางแผนการส่งออกสินค้าและบรรจุภัณฑ์บรรลุตามแผนที่วางไว้และสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อลดค่าใช้จ่ายอื่นที่ไม่จำเป็นต่อไป

4.บทบาทและหน้าที่ด้านการตลาด

การออกแบบกราฟฟิก
องค์ประกอบของการออกแบบกราฟฟิกบรรจุภัณฑ์
     การออกแบบกราฟฟิกบรรจุภัณฑ์เพื่อการสื่อสารต่อกลุ่มเป้าหมาย มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการด้วยกันคือ
1.ภาพประกอบ
2.สี
3.รูปทรง
4.ข้อความ (ตัวอักษร)
      ทั้ง 4 องค์ประกอบจะถูกจัดรวมเป็นลักษณะกราฟฟิกของบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องอาศัยการผสมผสานอย่างกลมกลืนและมีชั้นเชิงของนักออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้ซื้อ ตัวอักษรหรือข้อความที่ปรากฏบนฉลากต้องมีความเข้ากันได้กับภาพประกอบ เช่น ภาพประกอบที่มีสีสันฉูดฉาดย่อมไม่เหมาะกับข้อความที่มีตัวอักษรที่แสดงถึงความหรูหรา ซึ่งในหัวข้อต่อไปจะกล่าวถึงองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการออกแบบกราฟฟิกบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก

ภาพประกอบ
      โดยทั่วไปการใช้ภาพประกอบบนบรรจุภัณฑ์ไม่นิยมใช้ภาพสินค้าโดยตรง ตัวอย่างเช่น ภาพบนกล่องบรรจุชาที่ไม่นิยมใช้ภาพใบชาแต่เลี่ยงไปใช้ภาพน้ำชาที่ผ่านการชงแล้วบรรจุในถ้วยหรือแสดงบรรยากาศของไร่ชาที่มีชาวไร่กำลังทำการเก็บใบชาแทน เพราะภาพใบชาแห้งที่บรรจุอยู่ข้างในคงไม่สร้างความประทับใจแก่ผู้ซื้อนัก กรณีผงซักฟอก กลุ่มเป้าหมายคงไม่อยากเห็นภาพผงซักฟอกที่เป็นผงแสดงอยู่บนกล่อง แต่อาจเปลี่ยนไปใช้รูปแบบแม่บ้านที่มีความสุขหรือแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของสีสันสดใสแทน ถึงอย่างไรต้องไม่ลืมว่าภาพประกอบที่ตั้งใจแสดงให้เหมือนสินค้าที่บรรจุอยู่ข้างใน จะต้องแสดงขนาดสีสันการใช้ส่วนผสมและอื่นๆตามกับสินค้าที่บรรจุอยู่
      บรรจุภัณฑ์อาหารต้องมีคำว่า “Serving suggestion” เมื่อกราฟฟิกบนกล่องมีรูปอาหารที่ตกแต่งด้วยส่วนผสมที่ไม่ถูกบรรจุรวมอยู่ด้วยอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์สเต็กปลาพร้อมปรุงที่มีรูปบนกล่องเป็นชิ้นปลาอย่างร้อนและตกแต่งด้วยผลมะนาวฝาน ในขณะที่สินค้าที่บรรจุจริงมีเพียงเนื้อปลาดิบแช่แข็งที่ถูกตัดเป็นชิ้นแต่เพียงอย่างเดียว ภาพประกอบที่เหมาะสำหรับสินค้าส่งออกต้องแสดงเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศที่ผลิตส่งออก ตัวอย่างเช่น ภาพประกอบที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นสินค้าที่มีวัฒนธรรมของแถบเอเชีย แสดงให้เห็นถึงความประณีตและงดงามของสินค้าหัตถกรรม ในบางประเทศภาพประกอบที่เป็นรูปสุนัขและสุกรจะถูกมองว่าเป็นภาพที่ทำให้สินค้านั้นดูไม่สะอาด ส่วนประเทศที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม จะมีข้อกำหนดหรือข้อห้ามทางประเพณีนิยมให้มีรูปคนและภาพประกอบอื่นใดที่ขัดต่อขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา

สี
      สีที่มีอธิพลต่อการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า เพื่อช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถจดจำตาสินค้าได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ Heinz, Findus, Kodak, Shell, Coca-Cola, Mars และ Tolerone เมื่อพูดถึงชื่อของสินค้าผู้บริโภคจะสามารถจำแนกถึงรูปลักษณ์ทางนามธรรมของสินค้าดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง พลังของสีสามารถกระตุ่นการรับรู้และปลุกเร้าอารมณ์ผู้บริโภคผ่านการมองเพียงเศษวินาทีด้วยอธิพลทางจิตวิทยานี้ นักออกแบบจึงสามารถเลือกใช้สีเพื่อสื่อให้เห็นถึงความทันสมัย ความอ่อนหวาน สนุกร่าเริง ความหรูหรา (สีดำ, เงิน, ทอง) ความกว้างหน้าทางเทคโนโลยี (สีเทา, ดำ) ฯลฯ สินค้าบางชนิดผูกพันกับสีใดสีหนึ่งเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีส่วนให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมไม่ยอมรับสีที่ตนเองไม่คุ้นเคย เช่น สีแดงใช้สำหรับเครื่องดื่มประเภทโคลา สีเขียวใช้เครื่องดื่มประเภทเบียร์ และสีเหลืองชำสำหรับเครื่องดื่มประเภทโทนิค สีขาวและสีฟ้าใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์เกลือและน้ำตาล สีฟ้าและเขียวนิยมใช้สำหรับขวดบรรจุน้ำดื่ม ส่วนสีเหลืองใช้สำหรับสินค้าที่มีเนื้อไก่เป็นส่วนผสมหลัก และสีแดง น้ำตาล และดำ ถูกใช้มากสำหรับบรรจุกาแฟสำเร็จรูป การเลือกใช้สีนักออกแบบต้องมีความรู้ในเรื่องแนวโน้มและความนิยมของตลาดปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันพบว่ามีการนิยมใช้สีเขียวในบรรจุภัณฑ์มากขึ้น เพื่อสื่อถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏความนิยมในการใช้สีเขียวกับบรรจุภัณฑ์มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอเมริกา
     นอกจากนี้ยังสียังเป็นตัวช่วยจำแนกชนิดของสินค้าโดยเฉพาะในเรื่องรสชาติและความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์ เช่น ผู้ผลิตสินค้าอาหารกระป๋องเลือกใช้ฉลากที่มีพื้นหลังเป็นสีแดงสำหรับซุป และสีเหลีองสำหับแกง สีฟ้าสำหรับผลไม้และสีเขียวสำหรับผักเป็นต้น

รูปทรง
     รูปทรงของบรรจุภัณฑ์ที่ส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้แก่สินค้าเป็นอย่างมาก ด้วยประโยชน์ของรูปทรงบรรจุภัณฑ์ที่เป็น 3 มิติ เอื้อประโยชน์ให้นักออกแบบคิดค้นกรรมวิธีที่จะสื่อสารความหมายของตราสินค้าผ่านโครงสร้างและพื้นผิว ตัวอย่างเช่น
      - ขวด Coca-Cola ที่ถูกออกแบบขึ้นในปี ค.ศ. 1915 นับได้ว่าเป็นหนึ่งในบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้วที่มีรูปทรงเป็นที่รู้จักมากที่สุด
      - ขวดเครื่องดื่ม Pepsi-Cola ที่ถูกออกแบบขึ้นในปี ค.ศ. 1950
      - ขวดน้ำแร่ Perrier รูปโคนในปี ค.ศ. 1903
      - ความมีเอกลักษณ์ของขวดเหล้า สก๊อตช์ Dimple, Johny, และ Chivas Regal
      - ขวดซอสมะเขือเทศและเครื่องปรุงสร Heinz
      - กล่องช็อกโกแลต Toblerone รูปสามเหลี่ยม ซึ่งรูปทรงของสินค้าได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว

     การใช้รูปทรงองบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้า นับได้ว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตขวดแก้ว ซึ่งแม้ว่าจะมีอุปสรรคในเรื่องของราคาแม่พิมพ์ที่สูง แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ไม่มีการปรับปรุงการผลิตขวดพลาสติกให้มีประสิทธิภาพ รูปทรง และคุณสมบัติใกล้เคียงแก้วในต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า

ข้อความ (ตัวอักษร)
      ข้อความบรรจุภัณฑ์และฉลากมีหน้าที่สื่อความหมายของสินค้าสู่ผู้ซื้อโดยตรง ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพสูงสุด ข้อความดังกล่าวจึงต้องง่ายต่อความเข้าใจ มีการเรียบเรียงภาษาอย่างถูกต้องและใช้ตัวอักษรที่สามารถอ่านได้ง่ายโดยผู้ซื้อสามารถทราบถึงที่มาของสินค้าการใช้และวิธีเก็บรักษาในระยะเวลาอันสั้น
หลายประเทศทีกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการใช้ข้อความบนฉลากโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์อาหารและยา ดั้งนั้นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการส่งออกจึงควรศึกษากฎและระเบียบให้ดีก่อนการออกแบบฉลากสินค้าและกราฟฟิก
รายละเอียดที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์และฉลากของสินค้าทั่วไปมีดังนี้
      - ประเทศหรือแหล่งผลิต
      - ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต
      - คุณภาพ ระดับ รุ่น ขนาด ฯลฯ
      - ชื่อของสินค้า ส่วนประกอบสินค้า ส่วนผสม มารเติมแต่ง ฯลฯ
      - สำหรับสินค้าประเภทอาหาร มีข้อกำหนดให้แสดงลากโภชนาการหรือไม่
      - ปริมาณหรือจำนวนของสินค้าต่อหน่วยบรรจุที่ใช้ส่งออกตลาดเป้าหมายขนาดรับประทาน
      - ข้อความแสดงอาการเก็บ วันผลิต วันหมดอายุ ข้อความแสดงการรับรองคุณภาพของผู้ผลิต ฯลฯ
      ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ระบบดิจิตอลและการใช้ซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวกับการออกแบบกราฟฟิก สามารถทำให้การออกแบบข้อความและตัวหนังสือเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพมากขึ้น ตัวอักษรที่ใช้มีให้เลือกครอบคลุมเกือบทุกภาษา แต่ตัวอักษรที่นิยมมากที่สุดคือตัวอักษรที่ดูเรียบง่ายไม่มีฐาน (Non-serif) โดยเฉพาะตัวอักษรภาษาอังกฤษชื่อว่า Arial, Tahoma และ Veranda ที่ต่างมีคุณลักษณะพิเศษคือ อ่านง่ายแม้จะถูกย่อลงให้มีขนาดเล็กมากๆ
     ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ข้อความบทฉลากมากกว่า 3-4 ภาษา ฉลากนั้นถูกลดความสวยงามและความสะดุดตาลง ดังนั้นจึงควรเรียกใช้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน หรือ สเปน เพื่อครอบคุลมการสื่อสารความหมายในพื้นที่ส่วนใหญ่ของตลาดการค้าโลก ถ้ามีการเพิ่มข้อความนอกเหนือจากนี้ก็อาจจะใช้วิธีการพิมพ์บนสติ๊กเกอร์แล้วปิดบนพื้นที่ที่เหลือในฉลาก สำหรับสินค้าที่ส่งไปตลาดประเทศจีนแดง ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอาหรับ ควรเพิ่มข้อความภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้ซื้อได้ทราบถึงประเทศที่ผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่าย

กาจัดองค์ประกอบกราฟฟิกบรรจุภัณฑ์
      เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จึงขอเสนอแบบของการจัดองค์ประกอบกราฟฟิกบรรจุภัณฑ์โดยใช้องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อได้แก่ ภาพประกอบ สี รูปทรง และข้อความ (ตัวอักษร)
กฎระเบียบและข้อบังคับ
ฉลากเครื่องหมายและสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์
     ในสหภาพยุโรปได้มีการออกกฎระเบียบและข้อบังคับการแสดงฉลากบนบรรจุภัณฑ์อาหาร (79/112/EEC) เพื่อปกป้องผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวงหรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้า สิ่งที่ปรากฏบนฉลากของบรรจุภัณฑ์ที่สาระสำคัญ ดังนี้
      - ชื่อสินค้า
      - ส่วนผสม
      - ปริมาณสุทธิ
      - อายุการเก็บ(วันหมดอายุ)
      - สภาวะการเก็บรักษา
      - ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า จัดจำหน่าย
      - สถานที่ผลิตและวิธีการใช้
      สำหรับกฎระเบียบและข้อบังคับของสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) มีข้อแตกต่างจากสหภาพยุโรปคือ บังคับให้ต้องแสดงฉลากโภชนาการในบรรจุภัณฑ์อาหารทุกประเภท ประเทศอื่นเช่น ประเทศอินเดียวมีกฎที่ต้องแสดงรหัสตัวเลขที่ออกให้โดยผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งต้องแสดงถึงชื่อและชนิดของสินค้า วัน เดือน ปีที่ผลิตและหมดอายุในสินค้าประเภทปลาแช่แข็ง สินค้าที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเป็นต้น เพื่อลดการเสียหายของบรรจุภัณฑ์ระหว่างการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ขนส่งต้องแสดงเครื่องหมายเพ่อความปลอดภัยและสามารถเป็นที่เข้าใจได้ในทุกส่วนของโลก แต่เดิมอุตสาหกรรมการผลิตลากส่วนมากเกี่ยวกับการปิดฉลากกระป๋องและขวดด้วยกาวสติ๊กเกอร์ และปิดฉลากโดยใช้ความดัน ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ มาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดฉลาก การทำเครื่องหมายและสัญญาลักษณ์โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การปิดฉลาก
     ในปัจจุบันฉลากไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่แสดงเอกลักษณ์ของสินค้าหรือแสดงข้อมูลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ฉลากสามารถแสดงอายุการใช้งาน รหัสแท่ง ข้อมูลโภชนาการความหลากหลายภาษา ฯลฯ นอกเหนือจากนี้ฉลากยังสามารถสร้างแรงกระตุ้นในการส่งเสริมการขาย อีกทั้งยังมีระบบป้องกันการเปิด (Tamper evidence) หรือป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตได้อีกด้วย
      การปิดฉลากสามารถทำได้โดยใช้การหรือฉลากที่เป็นสติ๊กเกอร์ และอาจใช้ฟิล์มหดเพื่อแสดงรูปแบบกราฟฟิกบนบรรจุภัณฑ์ให้ได้มุมกว้างถึง 360 องศา ด้วยวิวัฒนาการอันก้าวไกลปัจจุบันยังสามารถใช้วิธีปิดฉลากพร้อมการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ได้อีกด้วย
      การปิดฉลากด้วยฟิล์มหดใช้กรรมวิธีการพิมพ์แบบกราเวียร์ สามารถให้ผลการพิมพ์ได้อย่างยอดเยี่ยมและสามารถพิมพ์ได้มากถึง 9 สี อีกทั้งยังสามารถเลือกใช้พิมพ์ด้านในของฉลากเพื่อป้องกันรอยจากการขูดขีดรวมถึงการใช้เทคนิคการเคลือบผิวเพื่อให้ความด้านหรือความมันวาว การเลือกใช้หมึกพิมพ์แบบสีเมทัลลิคเพื่อให้ลากมีสีเงินหรือสีทอง สามารถเลือกใช้สีแบบสะท้อนแสง หรือการใช้เทคนิคการเคลือบผิวแบบเมทัลลิคโดยใช้เทคนิคแบบ vacuum-vapour metalized
      ฉลากแบบพับสามารถออกแบบให้มีหลายขนาดและหลายรูปแบบเพื่อใช้ในการแสดงรายละเอียดต่างๆ เพื่อประโยชน์การส่งเสริมการขาย เช่น การใช้เป็นคูปองเพื่อการลดแลกแจกแถมโดยอาจออกแบบให้สามารถถุงออกได้ง่ายโดยอาจติดไว้กับบรรจุภัณฑ์แบบถาวรหรือแบบห้อยอยู่บนคอขวด
     การผลิตฉลากแบบใช้เทคโนโลยีพร้อมการขึ้นบรรจุภัณฑ์โดยใช้แม่พิมพ์ (in-mould labelling) สามารถติดฉลากไปพร้อมกับการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ โดยอาศัยกรรมวิธีการเป่า การขึ้นรูปโดยใช้ความร้อนหรือการฉีดในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยฉลากเหล่านี้จะผลิตจากวัสดุประเภทกระดาษ PE หรือ ฟิล์ม PET lมารถเลือกให้เป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถง่ายต่อการรีไซเคิล
      ปัจจุบันแนวโน้มการตกแต่งบรรจุภัณฑ์และแก้วพลาสติกใสโดยใช้ฉลากโปร่งใสซึ่งใช้เทคนิคการพิมพ์แบบด้านในนั้น กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นแทนที่การพิมพ์ฉลากด้านนอกแบบเดิม ซึ่งจะสามารถทำให้นักออกแบบสามารถใช้เทคนิคการพิมพ์แบบ 7 สี ผสมกับการพิมพ์เมทัลลิคฟอยล์โดยใช้ความร้อนเพื่อให้ผู้ซื้อสามารถมองทะลุผ่านฉลากได้เหมือนไม่มีฉลากปิดบนบรรจุภัณฑ์

การทำเครื่องหมายบรจุภัณฑ์
      การทำเครื่องหมายบรรจุภัณฑ์ปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงลักษณะกราฟฟิกแบบง่ายๆหรือแสดงตัวเลขบนบรรจุภัณฑ์โดยสามารถพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ได้โดยตรงหรือพิมพ์ฉลากที่หุ้มบนบรรจุภัณฑ์ สำหรับกระป๋องโลหะสามารถพิมพ์ได้โดยใช้ระบบลิโทกราฟฟิก ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือ ป้องกันการปลอมอปลงและการลักลอบเปิดใช้กล่องก่อนถึงผู้ซื้อ

การทำสัญญาลักษณ์
     เทคนิคการพิมพ์เพ่อการทำสัญญาลักษณ์เช่น รหัสแท่ง โดยอาศัยการพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขายไม่ได้สำหรับสอนค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ด้วยเทคนิคการใช้ตัวแปรของแสงระหว่างแถบเส้นขนาดทึบแสงและช่องว่างเพื่อให้เครื่องสแกนสามารถตรวจจับโดยใช้หลักการคลื่นไฟฟ้าแล้วอ่านค่าเป็นตัวเลข
ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้สัญญาลักษณ์รหัสแท่งหลายระบบ อาทิเช่น ระบบ UPC, EAN ซึ่งระบบที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ระบบ EAN-8 และ EAN-13 ซึ่งล่าสุดได้พัฒนาเป็นระบบ EAN-128 ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับระบบ EAN-13 และเป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมที่อาศัยการขนส่งทางเรือ

packaging_design

5.ต้นแบบจำลองที่เสร็จสมบูรณ์

   การสร้างต้นแบบเพื่อการพิมพ์(MECHANICAL OR ART-WORK)
      เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ผู้ออกแบบต้องจัดเตรียมต้นฉบับที่สมบูรณ์ด้วยการเขียนและจัดวางองค์ประกอบต่างๆ (LAY-OUT) เช่น ตัวอักษร ข้อความ และภาพประกอบ การกำหนดสี ตัวอย่างสี ตลอดจนคำสั่งต่างๆ ที่ใช้ติดต่อสื่อสารความเข้าใจกันระหว่างผู้ออกแบบและช่างเทคนิคการพิมพ์ เพื่อให้ได้ผลพิเศษตามที่ต้องการ เป็นต้นฉบับที่สมบูรณ์ สามารถนำไปถ่ายเป็นฟิล์มไบรโมด์ (BROMIDE) ทำเพลทแม่พิมพ์ที่สวยงามและคมชัด ดังนั้นในขั้นตอนสุดท้ายนี้ผู้ออกแบบจึงต้องระบุรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องในการผลิตให้ชัดเจน เช่น ชนิดของวัสดุที่ใช้กรรมวิธีการผลิตและวิธีการพิมพ์ ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อตรวจสอบและควบคุมคุณภาพได้นั่งเอง

6.การผลิตจริง

      ในขั้นตอนการผลิตจริงนี้ ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายโรงงานหรือฝ่ายโรงพิมพ์ที่ผลิตออกมาให้ตรงตามที่นักออกแบบกำหนดไว้ แต่ถึงอย่างไรผู้ออกแบบก็จะต้องคอยติดตามดูผลงานที่สำเร็จออกมาจริง โดยทั่วไปแล้วฝ่ายโรงพิมพ์จะผลิตผลงานออกมาจำนวนหนึ่งก่อน เพื่อให้ผู้ออกแบบได้ตรวจสอบครั้งสุดท้าย (PROOF) ก่อนการผลิตออกมาจำนวนมากๆ ผู้ออกแบบจะตรวจดูคุณภาพของผลผลิต เช่น ความชัดเจน คุณค่าขงสี ความประณีตและคุณภาพการพิมพ์ การตัด-ฉลุ (DIE-CUT) และอื่นๆ ที่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นตามมาตรฐานหรือความต้องการหรือไม่ซึ่งในชั้นนี้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเช่นกัน เช่น การแก้สีให้เข้มหรืออ่อนลง การลดเปอร์เซ็นต์ของสี เป็นต้น ส่วนการแก้ไขเพลทแม่พิมพ์ใหม่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และยังหมายถึงการขาดประสิทธิภาพในการออกแบบอีกด้วย
     
 ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ-Pollution Control Department

 

Online Catalog

Online Catalog TU.Pack

Special Promotion

โปรโมชั่น เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์

Article | Knowledge

บทความ สาระน่ารู้

Contact Us

ติดต่อสอบถาม

Contact Form

สอบถามเครื่องแพ็ค เครื่องบรรจุ

APPLY JOB

ร่วมงานกับทียูแพ็ค