เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 5

เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 5

(2) เครื่องพิมพ์แบบแบนราบ

     เครื่องพิมพ์ที่ทำงานในแนวแบนราบนี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ลิโกราฟฟี (Lithography) ความหมายของแบนราบ คือ บริเวณที่ถูกพิมพ์และไม่ได้พิมพ์ต่างอยู่ในระนาบเดียวกัน ตัวแม่พิมพ์หรือเพลทมีลักษณะแบนราบและแวววับจะส่งผ่านหมึกไปสู่โมยาง ก่อนพิมพ์ลงไปบนสิ่งพิมพ์

วิธีส่งหมึกผ่านโมยางจะช่วยยืดอายุของแม่พิมพ์ ถ้าปล่อยให้พิมพ์สัมผัสกับสิ่งที่พิมพ์ทุกครั้งที่พิมพ์
     หัวใจสำคัญของการพิมพ์แบบแบนราบ คือ การทำงานของเพลทแม่พิมพ์และตัวหมึกที่มีน้ำมันเป็นฐาน เพลทแม่พิมพ์จะถ่ายหมึกพิมพ์ตรงบริเวณที่จะพิมพ์ ส่วนบริเวณที่ไม่พิมพ์นั้นจะเป็นเยื่อบางๆ ของน้ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีลูกกลิ้งที่ให้ความชื้นบนผิวของลูกกลิ้งแม่พิมพ์ ส่วนปริมาณหมึกที่จะพิมพ์นี้ถูกควบคุมด้วยปริมาณของลูกกลิ้งที่ส่งถ่ายหมึกเป็นชุด
     การพิมพ์แบบลิโธกราฟฟีนี้มักใช้กับการพิมพ์กระดาษ เช่น กล่องกระดาษแข็งฉลากสีสอดสีหลายๆ สี เป็นต้น เครื่องพิมพ์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะป้อนกระดาษเป็นแผ่น ถ้ากระดาษยิ่งเรียบและมันวาวจะยิ่งพิมพ์สอดสีได้สวยงาม จะได้รูปภาพที่คมชัด
      สำหรับกระป๋องที่ต้องการสอดสีสวยงาม จะใช้ระบบออฟเซ็ตลิโธกราฟีนี้พิมพ์ลงไปบนแผ่นโลหะก่อนจะนำไปขึ้นเป็นรูปกระป๋อง แล้วทำการอบแห้ง พร้อมทั้งเคลือบด้วยแสงยูวีหรือเตาอบความร้อน

(3) เครื่องพิมพ์กราวัวร์หรือโรโต้กราวัวร์

     เครื่องพิมพ์กราวัวร์จะส่งหมึกผ่านโดยแม่พิมพ์ที่กัดเป็นรูเล็กๆ ตามขนาดและความลึกแตกต่างกัน โดยใช้ปฏิกิริยาทางเคมีและการเจียรผิวของของโมแม่พิมพ์ให้เรียบ ในยุคสมัยใหม่จะใช้การเจาะรูด้วยแสงเลเซอร์หรือหัวเข็มทำด้วยเพชร ตัวลูกกลิ้งแม่พิมพ์นี้ทำจากเหล็กชุบด้วยทองแดงพร้อมทั้งเคลือบโครเมียมในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง สามารถใช้แม่พิมพ์ได้ทนทาน โมที่พาหมึกพิมพ์นี้จะมีใบมีดที่เรียกว่า Doctor Blade ทำการปาดสีบริเวณปากรูให้เรียบ
     สิ่งที่พิมพ์สำหรับเครื่องพิมพ์ควรมีผิวเรียบที่สามารถรับถ่ายหมึกที่เป็นจุดๆ นี้อย่างรวดเร็วนับได้ว่าเป็นระบบพิมพ์ทำให้คุณภาพการพิมพ์ที่ดีและแม่พิมพ์สามารถใช้งานได้ทนนานกว่าระบบพิมพ์อื่นๆ ดังนั้นจึงเหมาะกับงานพิมพ์ที่มีปริมาณมากๆ อย่างต่อเนื่อง

Gravure-Printing-Machine

(4) เครื่องพิมพ์ไร้สัมผัสแบบอิงค์เจ็ท (Ink - Jet Printer)

     Ink - Jet เป็นระบบการพิมพ์แบบไร้สัมผัสที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเนื่องจากความรวดเร็วในการพิมพ์และการพิมพ์ลงบนวัสดุใดๆ ก็ๆ ได้ เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทจะทำงานโดยใช้วิธีพ่นหยดหมึกขนาดเล็กในปริมาณที่เหมาะสมลงบนสิ่งที่ต้องการจะพิมพ์ จึงให้ประสิทธิภาพในการพิมพ์ที่ดีกว่าแบบอื่นๆ เนื่องจากตัวอักษรคมชัดและสะอาด ระบบอิงค์เจ็ทสามารถพิมพ์ได้เร็วถึง 300 เมตรต่อวินาทีต่อแถว หรือเกือบ 2000 ตัวอักษรต่อนาที ส่วนหมึกที่ใช้กับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเป็นหมึกผสมสารเคมีแบบฐานน้ำ (Water - based Inks) ซึ่งแห้งเร็วและตัวหมึกเองโดยส่วนใหญ่สามารถละลายได้ด้วยความร้อน จึงสามารถขจัดปัญหาการทำความสะอาดของเครื่องพิมพ์
    เนื่องจากหมึกที่ใช้กับเครื่องอิงค์เจ็ทเป็นหมึกแบบเชื้อน้ำจึงไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ระบบนี้จึงเป็นที่นิยมกับการพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์อาหารในบางโรงงาน ผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 200 รายการของการผลิตสามารถใช้ระบบนี้ในการพิมพ์ลงบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท โดยมีการพิมพ์มากกว่า 1.2 ล้านครั้งต่อวัน และประมาณ 320 วันต่อปี นอกเหนือจากนี้บรรจุภัณฑ์ที่ต้องฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสามารถใช้หมึกพิเศษที่ทนความร้อนได้สูงกว่า 120 องศาเซลเซียส โดยที่สีไม่หลุดลอก
     คุณสมบัติพิเศษของเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ท คือ ให้การพิมพ์ที่ละเอียดมากจึงสามารถพิมพ์ลงบนพื้นที่ขนาดเล็กๆ ได้โดยหมึกไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนออกมา โดยเฉพาะการพิมพ์บาร์โค้ดซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็กๆเรียงกัน นอกจาดนี้ยังเหมาะสมกับการพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์หรือฉลากในขณะที่บรรจุโดยการเติมวันที่หมดอายุ น้ำหนัก ราคา และวันที่บรรจุในช่องว่างขนาดเล็กที่กำหนดไว้

4. วิธีการจัดหา

     การจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์มีทั้งเครื่องจักรที่ผลิตในประเทศและเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องจักรที่นำเข้านั้นอาจจะมีอยู่ในสต๊อกที่สามารถดูสภาพการใช้งานและหลักการทำงานของเครื่องได้ ส่วนเครื่องจักรที่มีระดับราคาเป็นล้านบาทขึ้นไปนั้น มักจะต้องนำเข้าและสั่งทำเป็นรายๆ ไป

4.1 เกณฑ์การเลือกซื้อเลือกใช้

     การจัดซื้อจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์เริ่มต้นจากผู้จัดซื้อต้องรู้ถึงความต้องการใช้งานขนาดและความเร็วของเครื่องจักรที่ต้องการซึ่งมีรายละเอียดที่จำต้องรวบรวม ดังต่อไปนี้

  1. สินค้าที่จะบรรจุ เราจะต้องทราบคุณสมบัติทางกายภาพ เช่น ความสามารถการไหลตกด้วยตนเอง ความหนาแน่น เป็นต้น คุณสมบัติทางเคมีชีวภาพ เช่น การกัดกร่อน ความเป็นกรด - ด่างของสินค้า ถ้ามีตัวอย่างอาหารอยู่แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งให้ผู้ขายเครื่องจักรตรวจสอบและทดลองกับเครื่องจักรจริงๆ นอกจากนี้ยังต้องทราบถึงหน้าที่เฉพาะของเครื่องจักร เช่น เป็นเครื่องปิดกล่อง เครื่องบรรจุ เครื่องปิดฝา หรือเป็นเครื่อง Form - Fill Seal เป็นต้น
  2. สภาวะของการใช้งาน เริ่มตั้งแต่ความดันไฟฟ้า ความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้า ความถี่ของไฟฟ้า น้ำที่จะใช้ สภาวะความเป็นกรด - ด่างของน้ำ ความร้อน และความชื้นสัมพัทธ์ในบริเวณที่จะติดตั้งเครื่อง วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่จะสามารถหาได้ และเหมาะสมกับการใช้งานของเครื่อง
  3. วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานเครื่องจักร เช่น ความหนา พร้อมทั้งค่าเบี่ยงเบนที่เครื่องจักรจะยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น ความหนา 40 ไมครอน +/- 10% เป็นต้น ในกรณีที่มีตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ที่จะใช้อยู่แล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะส่งตัวอย่างไปลองทดสอบกับเครื่องจักรพร้อมกับตัวอย่างอาหาร ในกรณีที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่และยังไม่มีตัวอย่าง ควรปรึกษากับผู้ผลิตเครื่องจักรเกี่ยวกับข้อจำกัดของวัสดุที่จะใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ด้วย
  4. ปริมาณหรือปริมาตรที่จะบรรจุต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ จะประเมินจากกำลังการผลิตต่อปี ขนาดบรรจุที่แตกต่างกัน พร้อมทั้งสามารถประเมินปริมาณที่ต้องบรรจุของแต่ละขนาดบรรจุ
  5. ความแน่นอนในการบรรจุ โดยการวัดเป็นน้ำหนักหรือปริมาตร
  6. บรรจุภัณฑ์ขนส่ง ที่ใช้กับบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุแล้วพร้อมทั้งวิธีการจัดส่ง
  7. ความต้องการพิเศษต่างๆ เช่น วิธีการป้อนสินค้ามายังเครื่องบรรจุเครื่องต่อท้ายจากการบรรจุ เช่น เครื่องปิดฉลาก เป็นต้น
  8. ราคาของอะไหล่ที่จำเป็นใช้ ที่จะส่งมาพร้อมกับการส่งมอบเครื่องจักร
  9. วิธีการและระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักร
  10. เวลาที่ใช้ในการส่งสินค้า
  11. การฝึกอบรมบุคลากรในการใช้เครื่องจักร เช่น ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ระยะเวลาในการฝึก และผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกดังกล่าว เป็นต้น
  12. วิธีการจัดส่งเครื่องจักร
  13. ข้อจำกัดอื่นๆ ในการจักซื้อและวิธีการจ่ายเงิน

     รายละเอียดต่างๆ ที่เตรียมไว้ดังกล่าวข้างต้นนี้ มีจุดหมายเพื่อให้ผู้ผลิต/ขายเครื่องสามารถเตรียมใบเสนอราคาให้ได้ตรงตามความต้องการใช้งานจริงๆ การติดต่อผู้ผลิต/ผู้ขายเครื่องจักรนั้นสมควรพิจารณาจากผู้ผลิที่มีเครื่องจักรมาตรฐานที่ผลิตตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน รายละเอียดเหล่านี้อาจจะได้จากรายชื่อของผู้ได้ซื้อเครื่องและใช้เครื่องอยู่
     เมื่อได้รับการเสนอราคาจากผู้ผลิต/ผู้ขายใดๆ แล้ว มาตรการที่จะใช้ในการพิจารณาคัดเลือกเครื่องจักร คือ สมรรถนะในการใช้งานของเครื่องและความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต สิ่งเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ไปถึงความสามารถในการจัดหาอะไหล่หลังจากใช้งานไประยะหนึ่ง พิจารณาโดยรวมแล้วมูลค่าเครื่องจักรที่จ่ายไปนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าโสหุ้ย ค่าบำรุงรักษา เวลาที่เสียไปในการเปลี่ยนขนาด และเวลาที่ต้องหยุดเครื่องโดยไม่มีผลผลิตออกมา
     หลังจากการรวบรวมราคาและพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว จะเป็นการคัดเลือกเครื่องจักรที่เหมาะสมการใช้งานรอบแรก และปรับปรุงความต้องการในการใช้งานของเครื่องจักรใหม่แปรตามมาตรฐานของผู้ผลิต/ผู้ขายแต่ละราย ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เครื่องทราบถึงรายละเอียดทางเทคนิคของเครื่องจักรแต่ละรายมากขึ้น

2

     ก่อนการตัดสินใจในการสั่งซื้อสิ่งที่จำเป็นประการสุท้าย คือ การหาโอกาสได้ชมเครื่องจักรที่ต้องการซื้อนั้นในสภาพการใช้งานอย่างแท้จริง พร้อมทั้งหาโอกาสพูดคุยกับผู้ใช้เครื่องจักรนั้นๆ ด้วย

4.2 การเตรียมข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักร (Order Specification)

     ข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักรเกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ใดๆนั้น จะต้องมีรายละเอียดทางเทคนิคมากกว่าข้อกำหนดของตัวบรรจุภัณฑ์ สำหรับข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจำเตรียมจากข้อกำหนดเบื้องต้นที่สอบถาม (Inquiry Specification) และได้รับการตอบแทนด้วยใบเสนอราคาจากผู้ผลิตเครื่องแล้ว
      ข้อมูลที่จะระบุไว้ในข้อกำหนดการสั่งซื้อเครื่องจักร จะประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • แบบและรุ่นของเครื่องจักร
  • มิติที่ยอมรับได้ของเครื่อง เช่น มีข้อจำกัดเรื่องความสูงของเครื่อง เป็นต้น
  • แบบ/ขนาด/มิติของบรรจุภัณฑ์และความแปรปรวนที่ยอมรับได้ เป็นต้น
  • ปริมาณ/ปริมาตร/น้ำหนักที่บรรจุ พร้อมกับความแปรปรวนที่ยอมรับได้
  • ความเร็ว ขีดความสามารถในการบรรจุของเครื่องจักร
  • ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์อาหารที่จะทำการบรรจุ
  • ข้อกำหนดของคุณสมบัติของวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น มิติ รวมทั้งภาพประกอบ
  • องค์ประกอบสำคัญในการทำงานของเครื่องจักร ถ้าเป็นไปได้ควรมีรูปภาพประกอบ
  • อุปกรณ์พิเศษต่างๆ และอุปกรณ์เสริมที่ต้องการ เช่น

o การเคลือบผิวของเครื่องจักร
o ระบบควบคุมอัตโนมัติ
o สายพานลำเลียงเพื่อนำส่งเข้าและออกเครื่องจักร

  • คู่มือการใช้เครื่องจักรที่พิมพ์เป็นภาษาไทย หรืออาจเป็นแผ่นดิสก์ หรือถ่ายทำเป็นม้วนวีดีทัศน์ พร้อมทั้งการฝึกอบรมที่ต้องการ
  • จำนวนเครื่องจักรที่สั่งซื้อ
  • ระบบไฟฟ้าของเครื่องจักร เช่น ความดันไฟฟ้า (โวลท์) กำลังไฟฟ้าที่ใช้ เป็นต้น
  • ระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด
  • ระบบการบำรุงรักษาของเครื่องจักร
  • กำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเครื่องจักรเกินจากเวลาที่กำหนดไว้อาจยอมรับให้ส่งล่าช้าได้ แต่อาจมีค่าใช้จ่ายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงแก้ไขการสั่งจ่ายเงินตาม Letter of Credit (L/C Amendment) รายละเอียดเหล่านี้ต้องการตกลงล่วงหน้าว่าใครจะเป็นผู้ชดใช้ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความล่าช้าในการส่งมอบดังกล่าว
  • วิธีการส่ง โดยรถยนต์ ทางเรือ ทางอากาศและค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง ในกรณีที่เป็นการสั่งซื้อจากต่างประเทศจำเป็นต้องแจ้งสภาวะดิน ฟ้า อากาศ เช่นอุณหภูมิและความชื้นให้ผู้ผลิตทราบ เพื่อว่าผู้ผลิตเครื่องจักรจะได้เตรียมการจัดส่งอย่างเหมาะสม เช่น การเคลือบกันสนิม เป็นต้น
  • ราคาที่ได้ตกลงกันไว้แล้วและกำหนดการชำระเงิน ถ้าเป็นการซื้อเครื่องจักรภายในประเทศด้วยเงินบาท ปัญหาก็จะไม่ยุ่งยากนัก แต่ถ้าเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศอาจจะต้องมีการกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนที่แน่นอน โดยมอบความรับผิดชอบให้ธนาคารหรือผู้ขาย แล้วแต่จะตกลงกัน นอกจากนี้ ในกรณีที่เครื่องจักรส่งมอบใช้ระยะเวลาผลิตนานเป็นปี อาจต้องมีการยืนยันราคาอีกครั้งเมื่อถึงกำหนดส่งมอบเครื่อง
  • วิธีการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร
  • การรับประกันคุณภาพการใช้งานของเครื่อง โดยปกติจะมีการรับประกันคุณภาพ 1 ปี หลังการส่งมอบ ด้วยการเดินเครื่องจักรตามสภาวะที่ได้ตกลงไว้ก่อน เช่น การเดินเครื่องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันและด้วยความเร็วไม่เกิน 100 ขวดต่อนาที เป็นต้น ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สภาวะการเดินเครื่องจักรตามที่ได้ตกลงไว้นี้ มักจะได้รับการบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรืออาจจ่ายเฉพาะค่าแรงเป็นต้น
  • การบริการหลังการขายและการติดตั้งเครื่องจักร เช่น มีการตรวจเครื่องทุกช่วงเวลาที่กำหนดด้วยค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกัน
  • รายชื่อและราคาของอะไหล่ที่ผู้ขายแนะนำให้มี

     ข้อมูลที่กำหนดในข้อกำหนดการสั่งซื้อดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ควรมีการประยุกต์ใช้และเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็นในแต่ละกรณีไป

3

4.3 การตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร

     ก่อนการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักรมักจะมีการทดสอบการเดินเครื่อง โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้เครื่องมักจะมีความรู้เกี่ยวกับการเดินเครื่องน้อยกว่าผู้ผลิตเครื่องจักร ยกเว้นเคยมีประสบการณ์ในการใช้เครื่องจักรประเภทที่จะซื้อมาก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้การทดสอบการเดินเครื่องก่อนการส่งมอบผู้ซื้อมักจะประสบปัญหา 2 ประการ คือ

  1. ขีดความสามารถในการทำงานของเครื่องจักรที่จะยอมรับได้ของผู้ซื้อ เช่น ปริมาณสินค้าที่จะบรรจุ/ผลิตได้จากเครื่อง และปริมาณความสูญเสียในการเดินเครื่องที่จะยอมรับได้ เป็นต้น
  2. มาตรการที่จะใช้ในการทดสอบการเดินเครื่อง วิธีการทดสอบเครื่องและมาตรการที่จะยอมรับเครื่องจักร

     ปัญหา 2 ข้อดังกล่าวควรจะมีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าหรืออาจจะมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหน่วยงานกลางมาตัดสินหรือให้คำแนะนำในกรณีที่เป็นเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงๆ ในการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักรมีหลักเกณฑ์การยอมรับเครื่องจักรดังนี้

  1. การทดลองเดินเครื่องจักรที่โรงงานของผู้ขาย
  2. การทดลองเดินเครื่องจักรที่โรงงานของผู้ซื้อ
  3. จำนวนเล่มของคู่มือเครื่องจักร คู่มือบำรุงรักษาและคู่มืออะไหล่

     วิธีการทดสอบตรวจรับเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์จะแปรตามประเภทของเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อจะต้องทำการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่จะใช้ในการทดลองเดินเครื่องด้วยปริมาณที่เพียงพอต่อการทดลองเดินเครื่อง
     นอกจากความเร็วในการบรรจุด้วยวัสดุตามที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว รายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณาในการตรวจสอบรับมอบเครื่องจักร คือ

  • สีและรูปลักษณะของตัวเครื่อง
  • ขนาดและปริมาตรของการบรรจุที่ยอมรับได้
  • รายละเอียดของคู่มือการใช้เครื่อง การบำรุงรักษาเครื่อง และความสมบูรณ์ของคู่มือ (คู่มือดังกล่าวอาจจะใช้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการติดสินใจก่อนซื้อเครื่อง ด้วยการศึกษาคู่มือดังกล่าวเปรียบเทียบกับผู้ผลิตเครื่องจักรแต่ละราย)
  • ความเร็วสูงสุดเมื่อวิ่งด้วยเครื่องเปล่าไม่มีการบรรจุ และความเร็วที่ยอมรับได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนในสัญญาซื้อขาย
  • ความแปรเปลี่ยนของตัวสินค้าหลังจากการบรรจุ การใช้งานของเครื่องจักร
  • การตรวจสอบเครื่องจักรก่อนการส่งมอบ ณ โรงงานผลิตเครื่องจักร เพื่อว่าถ้าต้องการมีการแก้ไขใดๆ ก็จะสามารถกระทำได้ที่โรงงานผลิตเครื่องจักรนั้นซึ่งมีสมรรถนะที่ดีกว่าจะมาแก้ไข ณ จุดที่ใช้งานเครื่องจักรหรือมีการตรวจทั้ง 2 แห่งตามที่ตกลงกันไว้ก่อน

     ข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ควรระบุอยู่ในข้อกำหนดการสั่งซื้อซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละกรณี และความต้องการของผู้ซื้อเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบและการบริหารงานของผู้ผลิตเครื่องจักรเป็นหัวใจสำคัญที่จะให้รายละเอียดต่างๆที่ระบุไว้ในข้อกำหนดการสั่งซื้อสัมฤทธิผลได้ เช่น การควบคุมคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ การใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย การจัดการภายในโรงงานผลิตเครื่อง อุปกรณ์ที่สั่งซื้อจากแหล่งต่างๆ เป็นต้น

บทสรุป

     การจัดหาเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์มักจะตัดสินใจโดยใช้ความเร็วในการผลิตหรือการบรรจุเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ เนื่องจากเครื่องจักรเป็นสินทรัพย์ ความมั่นใจในชื่อเสียงของบริษัทที่ผลิตเครื่องจักรและบริษัทที่จำหน่ายก็มีบทบาทต่อการตัดสินใจ ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเลือกเครื่องจักรนั้น นอกเหนือจากความเร็วของเครื่องแล้วปัจจัยอื่นที่จำเป็นต้องพิจารณา ได้แก่ ตำแหน่งที่ตั้งเครื่อง การควบคุมการทำงานของเครื่อง การบำรุงรักษา พร้อมทั้งการบริการหลังการขาย และสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่ายรวมของเครื่องจักร

ประเภทของเครื่องจักรอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทตามประเภทของอาหาร คือ อาหารเหลว และอาหารแห้ง ส่วนเครื่องจักรพิเศษประเภทอื่นๆ ได้แก่ เครื่องบรรจุสุญญากาศ เครื่องห่อที่มีการทำงานด้วยเชิงกลและการใช้ฟิล์มหดรัดรูปและฟิล์มยืด ในกรณีของบรรจุภัณฑ์แก้ว ฝาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นต้องพิจารณาเครื่องปิดฝาด้วย

     สำหรับถุงพลาสติกที่มีใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมขนาดย่อม เครื่องปิดปากถุงโดยใช้ความร้อนจะเป็นเครื่องจักรที่พบได้โดยทั่วไป ส่วนกระป๋องนับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันมากในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องจักที่ใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ คือ เครื่องปิดฝาตะเข็บคู่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้กระป๋องมีการปิดสนิทที่มิดชิด (Hermetic Seal) ส่วนเครื่องจักรอื่นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้แก่ เครื่องปิดฉลาก เครื่องบรรจุกล่อง เครื่องปิดกล่อง และเครื่องรัดกล่อง
การพิมพ์ที่นิยมใช้กับบรรจุภัณฑ์มี 4 ประการ คือ

  1. แบบถ่ายผ่าน (Relief)
  2. แบบแบนราบ (Plano Graphic)
  3. แบบกราวัวร์ (Gravure)
  4. แบบไร้สัมผัส (Non - Contact)

     สุดท้ายคือ การตรวจสอบและการรับมอบเครื่องจักร ซึ่งมีความจำเป็นมากในการกำหนดคุณลักษณะจำเพาะหรือที่เรียกว่า Specification ของเครื่องจักรในสัญญาการซื้อขาย
ที่มา : http://www.foodnetworksolution.com/news_and_articles/article/0156/เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์-ตอนที่-5

Online Catalog

Online Catalog TU.Pack

Special Promotion

โปรโมชั่น เครื่องจักรบรรจุภัณฑ์

Article | Knowledge

บทความ สาระน่ารู้

Contact Us

ติดต่อสอบถาม

Contact Form

สอบถามเครื่องแพ็ค เครื่องบรรจุ

APPLY JOB

ร่วมงานกับทียูแพ็ค